ราคาทางทฤษฏี
DW เป็นตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการซื้อหรือขายหุ้นอ้างอิงในอนาคต ตามราคาใช้สิทธิและอัตราใช้สิทธิที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า การที่นักลงทุนจะได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าวมา นักลงทุนจะต้องจ่ายบางสิ่งบางอย่างให้กับบริษัทหลักทรัพย์ผู้ออก DW เพื่อที่จะได้รับสิทธินั้น (หรือที่เราเรียกว่าค่า Premium หรือราคาซื้อ DW) โดยสิทธิดังกล่าวนักลงทุนจะได้รับหลังจากซื้อ DW ดังกล่าวเข้ามาและถือจนครบกำหนดอายุ ซึ่งได้รับผลประโยชน์ในการประกันราคาซื้อหรือขายที่ขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
นาย ณเดช ถือหุ้น PTT01CA จำนวน 100,000 หุ้น (โดยมี ราคาใช้สิทธิ = 270 บาท อัตราใช้สิทธิต่อหน่วย = 0.01 (100 PTT01CA: 1 PTT) วันซื้อขายวันสุดท้ายของ PTT01CA คือวันที่ 26 ธันวาคม 2554 -- ใช้ราคาปิดของหุ้น PTT ในวันนี้ เพื่อพิจารณาว่าจะใช้สิทธิหรือไม่ ) ดังนั้นเงินสดส่วนต่างที่ นาย ณเดช จะได้รับจะแยกพิจารณาออกเป็น 2 กรณีตามระดับของราคาปิดของหุ้น PTT ดังนี้
1) สมมติว่า ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2554 ราคาของ PTT ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาใช้สิทธิ 270 บาท (ITM) นาย ณเดช จะเลือกใช้สิทธิในการซื้อหุ้น PTT (PTT01CA) เนื่องจากนาย ณเดช สามารถซื้อ PTT ได้ที่ราคาใช้สิทธิซึ่งต่ำกว่าราคาปัจจุบัน
2) สมมติว่า ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2554 ราคาของ PTT ปรับตัวลดลงต่ำกว่าหรือเท่ากับราคาใช้สิทธิ 270 บาท (OTM, ATM)นักลงทุนจะเลือกไม่ใช้สิทธิในการซื้อหุ้น PTT (PTT01CA) เนื่องจากนาย ณเดช สามารถซื้อ PTT ได้ที่ราคาตลาดซึ่งต่ำกว่าหรือเท่ากับราคาใช้สิทธิ
หมายเหตุ ในทางปฏิบัติ หากนักลงทุนถือ DW จนพ้นวันซื้อขายวันสุดท้าย ทางบริษัทผู้ออกฯ จะทำการใช้สิทธิอัตโนมัติให้หากการใช้สิทธิดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน ดังเช่น ในกรณีที่ 1 โดยบริษัทจะทำการชำระเงินสดส่วนต่างจากการใช้สิทธิ (จำนวน DW ที่ถือ x อัตราการใช้สิทธิต่อหน่วยของ DW นั้นๆ x ส่วนต่างระหว่างราคาปิดของหุ้นอ้างอิง ณ วันซื้อขาย DW วันสุดท้าย กับ ราคาใช้สิทธิ) ให้กับนักลงทุน (ซึ่งให้ผลลัพท์เสมือนการส่งมอบหุ้นจริงกับเงินสด เช่นเดียวกับ Company Warrant ทั่วๆไป)
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ เมื่อนักลงทุนซื้อ DW เข้ามาในพอร์ตและนักลงทุนไม่จำเป็นต้องถือ DW จนกระทั่งใช้สิทธิ โดยสามารถขาย DW เพื่อทำกำไรได้ก่อน DW ครบกำหนดอายุ เนื่องจาก โดยปกติราคา Call Warrant จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อราคาของหุ้นอ้างอิงปรับตัวสูงขึ้น (โดยกำหนดให้ตัวแปรอื่นๆ คงที่) และราคาของ Put Warrant จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อราคาของหุ้นอ้างอิงปรับตัวลดลง (โดยกำหนดให้ตัวแปรอื่นๆ คงที่) ดังนั้น นักลงทุนสามารถขาย DWได้ที่ราคาสูงกว่าที่ตนซื้อมาเพื่อทำกำไรได้ เมื่อราคาของหุ้นอ้างอิงเคลื่อนไหวไปเป็นตามที่นักลงทุนคาดการณ์
อันที่จริง ยังมีปัจจัยอื่นๆ นอกจากราคาของหุ้นอ้างอิง (S) เช่น อายุคงเหลือของ DW (T) ,ความผันผวนแฝงของหุ้นอ้างอิง (Volatility), อัตราดอกเบี้ย ( r), เงินปันผล (d) ล้วนความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของราคา DW ทั้งสิ้น ซึ่งในทางคณิตศาสตร์การเงินที่เป็นที่ยอมรับทั่วไปจะใช้สูตรคำนวณราคา DW ประเภท European (ให้ใช้สิทธิ ณ วันครบกำหนดอายุเท่านั้น) ที่เรียกว่า Blackscholes Formula ซึ่งบมจ. หลักทรัพย์บัวหลวง นำสูตรดังกล่าวมาใช้ในการปรับราคาเสนอซื้อและเสนอขายของ DW ประเภท European และอ้างอิงกับหุ้นสามัญ ดังนี้
ตัวอย่างที่ 1 การคำนวณราคา DW
หุ้น PTT01CA มีอายุคงเหลือ 120 วันทำการ ราคาใช้สิทธิ 270 บาท อัตราใช้สิทธิต่อหน่วย 0.01 (100 PTT01CA : 1 PTT) และราคาหุ้น PTT อยู่ที่ 300 บาท ราคาของ PTT01CA ทื่คำนวณจาก Blackscholes Formula จะเป็นเท่าใด
สมมติให้ ความผันผวนแฝงของหุ้นอ้างอิง 48.10% อัตราดอกเบี้ย 3.15% และกำหนดให้ในปี 2554 มีทั้งหมด 246 วันทำการ สิ่งที่เราจะต้องคำนวนก่อนคือค่า d1, d2 เพื่อเป็น input ในการคำนวณราคาของ PTT01CA ดังนี้
หรือนักลงทุนสามารถทดลองคำนวณราคา DW จากไฟล์ Excel ตามแนบนี้ Click
กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคา PTT01CA, PTT01PA และ PTT ในอดีต
ทั้งนี้เมื่อเราทดลองเปลี่ยนแปลงค่าปัจจัยต่างๆ ในสูตร Blackschole Formula เราสามารถสรุปผลกระทบของปัจจัยต่างๆ ต่อราคา DW เป็นดังตาราง
ซึ่งโดยปกติ ทาง บมจ. หลักทรัพย์บัวหลวงจะใช้ความผันผวนแฝงและอัตราดอกเบี้ยที่คงที่ในการคำนวณราคา DW (ตลอดช่วงอายุของ DW) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของราคา DW หลักๆ จะมาจากราคาของหุ้นอ้างอิงและอายุคงเหลือของ DW ที่เปลี่ยนไปเท่านั้น อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นอ้างอิงอันเนื่องมาจาก Corporate Action บางอย่างตามที่ระบุในข้อกำหนดสิทธิ เช่นการจ่ายเงินปันผล จะไม่ส่งผลกระทบต่อราคา DW เนื่องจากหากมี Corporate Action เกิดขึ้น ทางบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงจะมีการปรับสิทธิ (ราคาใช้สิทธิ และ อัตราใช้สิทธิ) ตามข้อกำหนดสิทธิของใบแสดงสำคัญสิทธิอนุพันธ์ (ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อกำหนดอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน)